​การอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเล

ด้วยเห็นความสำคัญของพะยูนฝูงสุดท้ายที่ควรช่วยกันอนุรักษ์ไว้  THINK EARTH จึงริเริ่มจัดกิจกรรมร่วมจังตรัง หอการค้าจังหวัดตรัง สมาคมหยาดฝน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดตรัง พร้อมทั้งเชิญชวนเด็กและชาวบ้านช่วยกันดูแลพะยูนฝูงสุดท้ายพร้อมทั้งให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพะยูนและหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารของพะยูน

พะยูน
โดยปกติพะยูนมักจะอาศัยรวมกันเป็นฝูง ซึ่งอาจมีจำนวนมากถึง 100 ตัว แต่ปัจจุบันกลับมีจำนวนลดลงมาก แม้ในฝูงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในเขตจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นแหล่งที่มีพะยูนมากที่สุดของประเทศไทย ยังมีจำนวนในฝูงสูงสุดไม่เกิน 60 ตัว เป็นสัญญาณให้เห็นว่าพะยูนอาจใกล้สูญพันธุ์ลง  พะยูนเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณประโยชน์แก่ระบบนิเวศทะเลอย่างมากและเป็นผู้ช่วยให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล โดยพะยูนกินหญ้าทะเลเป็นอาหารและปล่อยของเสียออกมาเป็นปุ๋ยที่มีคุณค่า เป็นอาหารแก่สัตว์น้ำขนาดเล็ก เป็นอาหารสำหรับปลาขนาดใหญ่ ที่กลายเป็นอาหารสำหรับปลาอีกทอดหนึ่งของมนุษย์

หญ้าทะเล
หญ้าทะเลเป็นพืชดอกที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใต้น้ำบริเวณชายฝั่งที่มีการแปรผันของความเค็มได้เป็นอย่างดี ประโยชน์ของหญ้าทะเล นอกจากจะเป็นอาหารหลักชนิดเดียวของพะยูนแล้ว ยังช่วยยึดผิวหน้าดิน ป้องกันการพังทลายของชายฝั่งได้ นอกจากนี้เมื่อสังเคราะห์แสงแล้วยังให้ออกซิเจนจำนวนมากแก่สัตว์น้ำอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและพืชขนาดเล็ก ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์น้ำนานาชนิดส่วนต่าง ๆ ของหญ้าทะเล เมื่อย่อยสลายลงยังกลายเป็นสารอาหารที่จำเป็นแก่ระบบนิเวศน์ของทะเลอีกด้วย

โครงการศูนย์ศึกษาและพิพิธภัณฑ์โลมาอิระวดี (หัวบาตร)
ร่วมกับชมรมรักษ์โลมา จังหวัดพัทลุง และองค์กรชาวบ้านรอบ ๆ ทะเลสาบลำปำทำการศึกษาวิจัยและนำเสนอเรื่องราวของโลมาอิระวดี จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้สำหรับเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัยในอนาคต เพื่อให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดพัทลุงได้ตระหนักถึงความสำคัญของสรรพชีวิต 2 ฝูงสุดท้าย ที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบของทะเลสาบลำปำ ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตมีแนวโน้มว่าโลมาจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย